ข่าวเด่นการศึกษาไทย

วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เมษายนนี้ เตรียมสอบครูผู้ช่วย


ชงเงื่อนไขสอบครูผู้ช่วยสมัครที่เดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 
          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็น หรือ เหตุพิเศษ ว 12 ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนเดียวสอบได้ 2 เขตพื้นที่การศึกษา ว่า ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯได้ลงตรวจสอบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว คาดว่าอีก 4-5 วันจะได้รับข้อมูลเบื้องต้น ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ตนได้รับการร้องเรียนมาจะมีการเปิดให้ผู้ที่สมัครสอบคัดเลือกไปลงทะเบียนติวโดยต้องจ่ายเงิน 7-8 พันบาท คนที่ติวก็จะได้รับกระดาษคำตอบมาดูก่อน และต้องจ่ายเงิน 5 แสนบาทเมื่อสอบคัดเลือกได้ จากข้อมูลดังกล่าวต้องไปตรวจสอบหาหลักฐานเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ตรวจสอบการโอนเงินเข้าบัญชีว่าโอนไปไหนบ้าง ซึ่งตนเชื่อว่าตรวจสอบได้ไม่ยาก โดยต้องไปดูว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้างในแต่ละระดับ
 
          ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์การสอบครูผู้ช่วยทั่วไปประจำปีการศึกษา 2556 ที่จะเปิดสอบประมาณเดือน เม.ย.นี้ โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้สมัครสอบคัดเลือกได้เพียง 1 เขตพื้นที่การศึกษา จากเดิมที่เปิดให้สมัครได้หลายเขตพื้นที่ฯ หรือหากที่สุดแล้วยังต้องเปิดโอกาสให้สมัครได้หลายที่ก็จะต้องให้ผู้สมัครยืนยันว่าจะไปสอบเขตพื้นที่ใด ส่วนการออกข้อสอบในครั้งนี้ สพฐ.จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยออกข้อสอบแทนการให้คนใน สพฐ.เป็นคนออกข้อสอบ และจะกำหนดความยากของข้อสอบไว้ในระดับปานกลางเนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อให้มหาวิทยาลัยออกข้อสอบจะมีความยากมากจึงทำให้มีผู้สอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดน้อย ส่วนข้อสอบที่จะจัดส่งไปยังเขตพื้นที่ฯต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงกว่าเดิมด้วย
 
          "การสมัครสอบครูผู้ช่วยรอบใหม่นี้จะให้สมัครผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่าใครไปสมัครและสอบที่ไหนบ้าง อีกทั้งยังสามารถควบคุมการพิมพ์ข้อสอบที่จะมีชื่อและหมายเลขบัตรประชาชนกำกับไว้ด้วย ซึ่งจะทำให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประธานคุรุสภาคนใหม่ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์


ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานในวาระนี้คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์


ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2489 สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) เกียรติ นิยม ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Ph.D. (Higher Education) University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา


เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเกษียณราชการ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการคุรุสภาศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ เป็นภาคีสมาชิก สาขาศึกษาศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์ และการเมืองราชบัณฑิตยสถาน


อาจารย์ไพฑูรย์เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการศึกษามาโดยตลอด ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตในคณะครุศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทั้งยังเป็นนักเขียนบทความที่มีผลงานสม่ำเสมอ


ครุสภาเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในสมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ธิการ ได้เล็งเห็นปัญหาวิกฤตในวิชาชีพครู คือคนดี คนเก่ง ไม่อยากเรียนครู


ขณะที่ครูเก่ง ครูดี มีความสามารถละทิ้งอาชีพครูไปประกอบอาชีพอื่น จึงได้ตราพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตวิชาชีพครูดังกล่าว


คุรุสภามีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการในเรื่องครู นโยบายทางการศึกษา และวิชาการศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยครู รักษาผลประโยชน์และส่งเสริมวิทยฐานะของครู


ต่อมาสมัยรัฐบาลพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นาย ปองพล อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตราพระราชบัญญัติสภา ครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546


โดยปรับปรุงคุรุสภาเดิม เป็นสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่ใช้ชื่อเดิม คือ "คุรุสภา"


ขณะที่กำหนดบทบาทให้เป็นสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออก และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับ ดูแล การปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ ยังต้องพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา เพื่อยกระดับวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง


คุรุสถาบริหารงานโดยองค์คณะบุคคล คือคณะกรรมการคุรุสภา มีจำนวน 39 คนจากบุคคล 4 กลุ่ม


คือกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน กรรมการจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์ หรือการศึกษา และสถาบันอุดม ศึกษาเอกชน 4 คน และกรรมการจาก ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 19 คน


ตำแหน่งประธานกรรมการ คณะรัฐมน ตรีเป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูง มีเลขาธิการคุรุสภา เป็นเลขานุการของคณะกรรมการคุรุสภา


คุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพเช่นเดียวกันสภาวิชาชีพอื่น มีหน้าที่สำคัญคือออกใบอนุญาตและถอนใบอนุญาต การประกอบวิชาชีพ ควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด และควบคุมจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ


คุณสมบัติสำคัญของสมาชิกสามัญ คือต้องเป็นผู้มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้


วันนี้ปัญหาของคุรุสภายังมีปรากฏหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องใบประกอบวิชาชีพ และการส่งเสริมวิทยฐานะของสมาชิกผู้ที่เป็นครูวิชาชีพ


การอยู่ในวิชาชีพนี้มายาวนานของอาจารย์ไพฑูรย์ ประกอบกับอุปนิสัยเคร่งขรึม อาจารย์จึงน่าจะเป็นผู้แก้ปัญหาให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ภายในวาระการดำรงตำแหน่งนี้เพื่อครูและการศึกษาไทยจะได้พ้นจากวังวนเสียที

มัธยม 2 พันแห่งเซ็นเอ็มโอยู

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาในภูมิภาค หรือ Education Hub นำร่องเปิดห้องเรียนพิเศษใน 14 โรงเรียน โดยรับนักเรียนชาวต่างชาติเข้ามาเรียนร่วมกับนักเรียนไทยในหลักสูตรต่างๆ ที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก พบว่าขณะนี้มีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนบ้างแล้ว อาทิ เกาหลี สวิตเซอร์แลนด์ ลาว จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ไต้หวัน พม่า ฟิลิปปินส์ แคนาดา อังกฤษ นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และอเมริกาแต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี โดยเฉพาะใน 7 วิชาชีพ อาทิ วิศวกร แพทย์ พยาบาล สถาปนิก และนักการบัญชี เป็นต้น จะทำให้มีเด็กที่ติดตามผู้ปกครองเข้ามาเรียนในโรงเรียนเหล่านี้มากขึ้น

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ในการจัดการเรียนการสอนนั้น จะใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้สามารถย้ายไปเรียนโรงเรียนใดในห้องพิเศษก็ได้ เพื่อเด็กจะได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่อง เพราะผู้ปกครองจะมีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงาน และได้รับวุฒิการศึกษาของไทย และในอนาคตจะทำความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาจากประเทศที่มีการทำข้อตกลง หรือเอ็มโอยูทางการศึกษาร่วมกันด้วย นอกจากนี้จะมีการขยายโครงการห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนมัธยมศึกษา 2,362 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จะมีการทำเอ็มโอยูร่วมกับประเทศต่างๆ ด้วย ส่วนค่าเล่าเรียนนั้นเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาลทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าเด็กไทย

สพฐ.แก้ปัญหาควบรวมโรงเรียนเล็ก


สพฐ.แก้ปัญหาควบรวมโรงเรียนเล็ก  มอบหมายเขตพื้นที่การศึกษาทั่วปท. จัดทำแผนที่พัฒนามาเสนอ ...

นายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากที่ สพฐ.ประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอเรนซ์ไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาการศึกษาในระดับตำบล ให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงขึ้นและส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กนำนักเรียนไปรวมกับโรงเรียนที่ใหญ่ กว่า หรือไปเรียนรวมกับโรงเรียนขนาดเล็กด้วยกัน โดยที่ประชุมให้เขตพื้นที่ฯไปจัดทำแผนที่ตั้งของโรงเรียนว่า แต่ละเขตมีโรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นอย่างไร ทั้งนี้ ทุกเขตพื้นที่ฯต้องส่งแบบสำรวจข้อมูล เพื่อเสนอในการประชุม ผอ.เขตพื้นที่ในวันที่ 11-12 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ ผู้ปกครองร้องขอเรื่องการทำประกันให้กับนักเรียนในการเดินทาง โดย สพฐ.มีแผนดูแลความปลอดภัยของนักเรียนในการจัดรถรับ-ส่ง คือ
1. ทำประกันชีวิตให้นักเรียน
2. ทำเอ็มโอยูพนักงานขับรถ ให้จัดหาคนรักษาความปลอดภัยรถรับ-ส่ง.